ยากันยุงภัยร้ายที่ไม่ได้ตายแค่ยุง
ถ้าจะบอกว่าคนเราสามารถตายด้วยยากันยุงได้ หลายคนก็คงไม่เชื่อ และรู้สึกขำในคำกล่าวนี้ แต่คุณอาจจะขำไม่ออกก็เป็นได้ เมื่อรู้ว่าความจริงแล้ว ยากันยุงที่เราจุดด้วยตัวเองกับมือ สามารถทำร้ายตัวเองหรือคนที่เรารักได้ด้วยในเวลาเดียวกัน
จริงอยู่ที่เราไม่ควรให้ยุงมากัดเรา เพราะยุงถือเป็นพาหะนำโรคมากมายหลายชนิด ทั้งไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย แต่การใช้ยาจุดกันยังอาจนำพาความร้ายแรงที่มากกว่าการติดเชื้อหรือโรคจากยุง เพราะไม่ใช่แค่ยุงเท่านั้นที่ไม่ชอบกลิ่นของยากันยุง แต่สำหรับมนุษย์เองแล้ว การควรสูดดมกลิ่นยากันยุงเหล่านี้เข้าไปมากๆ ก็อาจจะเกิดอันตรายได้เช่นกัน หากอยากรู้ว่า…ยาจุดกันยุงเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้อย่างไรบ้างตามไปความร้ายแรงของมันกันได้เลยค่ะ
ยาจุดกันยุงมีส่วนประกอบเป็นสารเคมีหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่ม pyrethroids ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบสารไพรีทรินที่สกัดได้จากดอกไม้ เช่น ดอกเบญจมาศ ดอกไพรีทรัม เป็นต้น โดยสารนี้มีลักษณะเป็นผงสีเขียวปนน้ำตาล มีความสามารถในการสลายตัวได้เร็ว มีความใส มีสภาวะเป็นด่าง รวมทั้งสามารถออกฤทธิ์ในการป้องกัน และกำจัดแมลงได้ อย่างไรก็ตาม การสกัดสารไพรีทรินมีต้นทุนสูงมาก ในปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาสังเคราะห์สารเคมีเลียนแบบขึ้นมาทดแทน
การทำงานของสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ pyrethroids ซึ่งช่วยในการไล่ยุงได้เนื่องจาก สารตัวนี้จะเข้าไปรบกวนการทำงานของระบบประสาท เมื่อยังสูดดมเข้าไปจะทำให้ยุงเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว และตกลงมาหงายท้องตายโดยไม่สามารถกัดเราได้อีก นอกจากนี้ ควันจากยาจุดกันยุงยังช่วยลดอัตราการกัดมนุษย์ลงได้ด้วย
แล้วเมื่อไหร่ที่ยากันยุงจะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ก่อนหน้านี้เราได้กล่าวถึงหลักการในการทำงานของยากันยุงในการฆ่ายุงกันไปแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าแล้วอันตรายที่เกิดขึ้นกับคนคืออะไรบ้าง เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันเลน
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า สารไพรีทรอยด์ในยาจุดกันยุงมีความเป็นพิษต่ำกว่าสารเคมีกำจัดแมลงในกลุ่มอื่น ดังนั้น การใช้ยาจุดกันยุงแบบพอเหมาะพอดี ในขนาดและวิธีการใช้แบบปกติ จึงมักไม่พบการเกิดพิษต่ออนุษย์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การสูดดมควันที่ปล่อยจากยาจุดกันยุงในปริมาณมากๆ หรือ อยู่ในสถานที่ปิดที่คับแคบ ไม่มีอากาศถ่ายเทนานๆ และมีการจุดยากันยุง ก็อาจจะทำให้เกิดอาการไม่ปกติขึ้นได้เช่นกัน
สำหรับอาการเบื้องต้นของผู้ที่สูดดมกลิ่มยาจุดกันยุงเข้าไป ก็คือ อาจรู้สึกหายใจติดๆ ขัดๆ หรือหายใจไม่สะดวก แต่สำหรับใครที่โดยสัมผัสทางผิวหนัง แล้วก่อให้เกิดการระคายเคืองอย่างแรง จะมีลักษณะ คือ ผิวหนังแพ้ คัน มีผื่นแดง เพราะสารระเหยสามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย ในขณะที่ คนที่ใช้สารจุดกันยุงแล้วเข้าตา อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ตาแดง เจ็บตา และมีอาการน้ำตาจะไหล ถ้าร้ายแรงไปกว่านั้น หรือเผลอกลืนหรือกินเข้าไป อาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการเมื่อได้รับสารจุดกันยุงในช่วงแรกอาจไม่ร้ายแรงมากนัก แต่เมื่อสะสมสารระเหยของยาจุดกันยุงในร่างกายมากๆ สารระเหยเหล่านี้จะเข้าไปทำลายเยื่อบุเมือก และทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีผลให้หลอดลมและกล่องเสียงอักเสบ มากไปกว่านั้น เมื่อสารระเหยเข้าไปทำลายปอด ทรวงอก ทางเดินอาหาร ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ อวัยวะเหล่านี้ก็จะเสื่อมโทรมมากขึ้น
อีกทั้ง ยังทำให้เกิดอาการหายใจถี่ วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอยากอาเจียน หากได้รับในปริมาณสูงจะมีอาการพิษเฉียบพลัน อาจชักหรือหมดสติได้เลย
คนทั่วไปว่ามีอันตรายแล้ว แต่คนที่อันตรายมากกว่าน่าจะเป็นหญิงมีครรภ์ เพราะความร้ายกาจสามารถทำลายชีวิตได้สองชีวิตพร้อมกัน เพราะสารจากยาจุดกันยุงเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ของมารดาเป็นอย่างมาก
แล้วเราจะมีวิธีการป้องกันอันตรายจากยาจุดกันยุงได้อย่างไร? ทางป้องกันอันตรายที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการใช้ยาจุดกันยุงนั่นละ แต่ก็เป็นแบบนี้ไม่ได้เสมอไป ดังนั้น หากจำเป็นควรใช้ยาจุดกันยุงด้วยความระมัดระวัง ดังวิธีต่อไปนี้ เช่น จุดยากันยุงให้ห่างจากบริเวณที่มีคนอยู่และวางไว้เหนือลม และเลือกจุดในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดีเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงห้องปิดหรือห้องที่มีอากาศอับชื้นโดยเด็ดขาด ไม่ใช่แค่ร่างกายเราเท่านั้น แต่ต้องระวังไม่ให้สารระเหยจากยากันยุงสัมผัสถูกอาหารที่เรามีโอกาสจะรับประทานเข้าไปด้วย นอกจากนี้ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกๆ ครั้งหลังการหยิบใช้หรือสัมผัสยาจุดกันยุงด้วย
จะเห็นได้ว่า ยาจุดกันยุงมีอันตรายไม่น้อยเลย แม้ว่าปัจจุบันจะมีการพัฒนายาจุดกันยุงแบบใหม่ที่มีความปลอดภัยมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่หากเราป้องกันตัวเองเอาไว้ก่อนก็น่าจะปลอดภัยมากกว่า ลองปฏิบัติตนตามนี้เพื่อให้ห่างไกลจากอันตรายของสารเคมีของยาจุดกันยุงกันเถอะค่ะ ชีวิตของเราจะได้อยู่ได้ยาวนานมากขึ้นกว่าเดิม
แหล่งที่มา www.สุขภาพน่ารู้.com